top of page

Knowledge

วิธีการอ่านใบเซอร์

วิธีการอ่านใบเซอร์เพชร โดย ธาราดา จิวเวลรี่

ไม่ว่าคุณจะมีประสบการณ์การเลือกซื้อเพชรหรือไม่ก็ตาม การเลือกเพชรสักเม็ดที่ทำให้คุณอุ่นใจว่าได้เพชรตามมาตรฐานสากล คือ การเลือเพชรที่มี ใบเซอร์ หรือ ใบรับรอง จึงเป็นหลักประกันว่าเพชรนั้นได้มาตรฐานแน่นอน เราจะมาดูรายละเอียดต่างๆ ในใบรับรองเพชรว่ามีความสำคัญ และมีปัจจัยต่อการเลือกซื้ออย่างไร

ใบเซอร์ GIA

ใบเซอร์ จะบอกรายละเอียดของเพชรที่เราไม่สามารถรู้ เพราะเป็นการวัดที่ออกมาจากห้องเล็บโดยใช้เครื่องมือตรวจสอบเฉพาะทาง ดังนั้นการเลือกใบเซอร์ก็ควรเลือกที่ออกจากห้องแลปที่ได้มาตรฐานสากล ใบเซอร์ไม่ได้บอกแค่ 4C แต่ยังบอกสัดส่วนกับประเภทตำหนิอีกด้วย ใบเซอร์นั้นเปลียบเสมือนลายนิ้วมือ คือ จะบอกประเภทตำหนิ รูปพรรณสันฐาน เพื่อตรวจสอบว่าตรงกับเพชรที่เรามีอยู่หรือไม่

ใบเซอร์ GIA

สถาบันที่ออกใบรับรองเพชรมีอยู่หลากหลายสถาบันแต่ที่นิยมในตลาดเมืองไทย และเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกอันดับ 1 คือ GIA หรือ Gem Trade Laboratory Inc. และรองลงมาเป็น HRD และ IGI และสถาบันต่างๆ อีกหลายสถาบันทั้งในและต่างประเทศ

ในการเริ่มต้นอ่านใบเซอร์เรามาเริ่มที่ GIA ก่อน

ใบรับรองเพชรหรือใบเซอร์ของ GIA มีด้วยกัน 3 แบบ คือ

แบบที่ 1. Dossier หมายถึงใบเซอร์แบบใบเล็ก ส่วนมากจะออกให้กับเพชรขนาด 0.30-0.90 Cts. จะไม่มีการบอกตำแหน่งของตำหนิของเพชร

GIA

ปกติใบเซอร์ที่เราคุ้นตากันจะเป็นสีฟ้า แต่ก็มีสีอื่นด้วย ตัวอย่าง GIA America รุ่นใหม่ แต่รายละเอียดภายในเหมือนเดิมทุกประการ

แบบที่ 2. Full Diamond Report ส่วนมากก็เริ่มออกตั้งแต่ 0.50 Cts. ขึ้นไปแต่ส่วนมากในขนาด 1 กะรัต ก็จะเป็นใบเซอร์ใบใหญ่ ส่วนมากใบเซอร์นี้จะมีการบอกตำแหน่งและประเภทของตำหนิในเพชรมาให้

Full Diamond Report

การอ่านรายละเอียดใบเซอร์ GIA

  • เริ่มจาก หมายเลข 1 ตัวอย่างใบเซอร์นี้เป็นของ GIA แบบ Dossier (คือเป็นแบบใบเล็ก จะไม่มีการพล็อตตำแหน่งตำหนิของเพชร ต่างจาก full diamond report ที่จะมีการแสดงตำแหน่งตำหนิของเพชรด้วย ) สำหรับ laser inscription registry นี้จะหมายถึง หมายเลขของใบเซอร์ที่แสดงไว้ที่ขอบเพชร

  • Shape and cutting style หมายถึงรูปทรง และแบบการเจียรไนของเพชร ตามตัวอย่าง คือ Round Brilliant คือ เพชรทรงกลม เหลี่ยมเกสร สำหรับเพชรทรงอื่นๆ ได้แก่ Square (สี่เหลี่ยม) Oval (ไข่) Pear (หยดน้ำ) Marquise (เม็ดข้าว) เป็นต้น

  • Measurement หมายถึง ขนาดของเพชร ความกว้างxความยาวxความสูง หรือถ้าสำหรับเพชรทรงกลม เป็น ความกว้าง (เส้นผ่านศูนย์กลาง)สูงสุด x ความกว้าง(เส้นผ่านศูนย์กลาง)ต่ำสุด x ความสูง หน่วยเป็นมิลลิเมตร จากรูป เพชรเม็ดนี้มีขนาด กว้างสูงสุด 4.48 มม กว้างต่ำสุด 4.45 มม และมีความสูง (ความลึก) 2.76 มม สำหรับเพชรกลม ความแตกต่างระหว่าง ความกว้างสูงสุด และต่ำสุด ยิ่งน้อย จะยิ่งกลม และยิ่งดีครับ เช่นอย่างเม็ดนี้ต่างกัน 0.03 มม. ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ใช้ได้ เกณฑ์ความกว้างสำหรับเพชรเม็ดเล็กขนาด 30-50 ความแตกต่างไม่ควรเกิน 0.05 มม. ครับ และอาจต่างได้ถึงไม่เกิน 0.10 มม. สำหรับเพชรขนาดใหญ่กว่าครึ่งกะรัต นอกจากนี้ measurement ยังสามารถใช้คำนวณ %ความลึก (Total depth) ได้ด้วย โดยใช้สูตร ความลึก/ความกว้างเฉลี่ย จากรูป เพชรเม็ดนี้มี % ความลึก = 2.76/4.465= 61.8% ความกว้างเฉลี่ยคิดจาก (4.48+4.45)/2

  • Carat Weight หมายถึง น้ำหนักของเพชร โดย 1 กะรัตมี 100 สตางค์ ตามตัวอย่างเพชรน้ำหนัก 0.33 กะรัต หรือ 33 สตางค์

  • Color หมายถึง สีของเพชร โดยเริ่มจาก D, E, F,.... 100, 99, 98 สียิ่งสูง เพชรจะยิ่งขาว จะยิ่งมีมูลค่าและราคาสูง

  • Clarity หมายถึง ความสะอาดเพชร โดยเริ่มจาก IF, VVS1, VVS2, VS1, VS2, SI1-3, I1-3 แนะนำให้เลือกเพชรความสะอาดตั้งแต่ VS2 ขึ้นไป เพราะตำหนิ มีขนาดเล็กมาก ไม่มีผลต่อความสวยงามของเพชร สำหรับความสะอาดระดับต่ำกว่านั้นเช่น SI ตำหนิจะมีขนาดค่อนข้างใหญ่ และบางครั้งจะขัดขวางการเดินทางของแสง

  • Cut หมายถึง การเจียรไน เป็นการสรุปคุณภาพการเจียรไนโดยรวมของเพชรเม็ดนั้นๆ ควรเลือกเพชรที่มี cut grade เป็น Excellent หรือ Very Good เพราะเพชรที่เจียรไนสวยจะมีความแวววาว ประกาย การเล่นไฟ ความระยิบระยับ ที่สวยงาม หรือสำหรับท่านที่ต้องการประหยัดงบ อาจเลือกเป็น Good ก็ได้ แต่ขอให้หลีกเลี่ยง เกรด Fair, Poor

  • Clarity Characteristic หมายถึง ลักษณะของตำหนิภายใน และภายนอกเพชร เช่น Crystal (ผลึก) pinpoint (รูเข็ม) cloud (กลุ่มของรูเข็ม คล้ายเมฆ) natural (ร่องรอยการเจริญเติบโตของเพชร ที่ใช้ยืนยันได้ว่าเป็นเพชรแท้)

  • Polish คุณภาพการขัดเงาที่ผิวเพชร เพชรที่มีการ Polish (ขัดเงา) ที่ดีจะมีความแวววาว สวยงาม สำหรับเพชรที่คุณภาพการขัดเงาไม่ดีนัก บางครั้ง เราจะเห็นเหมือนเป็นลาย (Polish Line) ซึ่งเกิดจากการขัดที่ผิวเพชร ควรเลือกซื้อเพชรที่มีคุณภาพการขัดเงา ที่ Excellent, Very Good หรืออย่างน้อยก็ไม่ต่ำกว่า Good

  • Symmetry คือ ความสมมาตรของเพชร เพชรคุณภาพดีย่อมมีความสมมาตร หลักสังเกตง่ายๆ ให้ลองจินตนาการ พับเพชรแบ่งครึ่ง เพชรที่มีความสมมาตรที่ดี ด้านซ้ายและด้านขวาที่เกิดจากการแบ่งเพชรเป็นสองส่วน จะมีขนาดเหลี่ยมต่างๆใกล้เคียงกัน ควรเลือกเพชรที่มีความสมมาตรระดับ Excellent, Very Good

  • Fluorescence คือ การเรืองแสงของเพชรภายใต้แสงเหนือม่วง (ultraviolet) สำหรับเพชรเม็ดเล็ก ฟลูออเรสเซนปานกลาง ถึงเข้ม จะทำให้เพชรดูขาวกว่าความเป็นจริง แต่สำหรับเพชรเม็ดใหญ่ ฟลูออเรสเซนจะทำให้เพชรดูฝ้าและหมองครับ ควรเลือกซื้อเพชรที่ ไม่มีฟลูออเรสเซน (None) หรือมีเพียงจางๆ (faint, Slight)

  • Total depth เปอร์เซ็นต์ความลึก หมายถึง สัดส่วน ความลึกต่อความกว้างเฉลี่ยของเพชร เพชรที่ลึก หรือหนาเกินไปจะทำให้หน้าเพชรมืด หรือที่เรียกว่า nail head ส่วนเพชรที่บางเกินไป บางครั้งจะทำให้เห็นเงาสะท้อนของขอบเพชรที่หน้าเพชร ซึ่งถ้าขอบเพชรเป็นแบบ beard-girdle (ขอบขุ่น) จะทำให้เกิด fish eye เปอร์เซ็นความลึกที่ดีอยู่ระหว่าง 58-62.9%

  • Table size ขนาดของเหลี่ยมเทเบิ้ล (เหลี่ยมที่ใหญ่ที่สุด เป็นแปดเหลี่ยมอยู่กลางหน้าเพชร) ขนาด table ที่สวยงามอยู่ระหว่าง 52-60%

  • Crown angle มุมคราวน์ มุมคราวน์ตามเหลี่ยมในอุดมคติ (Ideal cut) อยู่ระหว่าง 33-35.1 องศา

  • Crown height ความสูงของคราวน์ (ครึ่งบนของเพชรเมื่อมองจากด้านข้าง) เทียบกับความกว้างเฉลี่ยของเพชร ความสูงของคราวน์ตามเหลี่ยมในอุดมคติ (Ideal cut) อยู่ระหว่าง 13.5-16.8%

  • Pavillion Angle มุมพาวิลเลี่ยน ไม่เคยเห็นการกำหนดมุมพาวิลเลี่ยนที่เหมาะสม แต่โดยมากที่เห็นจะอยู่ระหว่าง 40.5-41.5 องศา

  • Pavillion Depth ความลึกของพาวิลเลี่ยน (ครึ่งล่างของเพชรเมื่อมองจากด้านข้าง) เทียบกับความกว้างเฉลี่ยของเพชร ความลึกของพาวิลเลี่ยนตามเหลี่ยมในอุดมคติ (Ideal cut) อยู่ระหว่าง 42.5-43.5%

  • Girdle เพชรที่มีคุณภาพดีมักมีขอบเพชรอยู่ระหว่าง thin-medium-slightly thick (บาง-กลาง-หนาเล็กน้อย )ควรหลีกเลี่ยงเพชรที่มีขอบบางมาก (Very thin) เพราะขอบเพชรจะเปราะ และบิ่นได้ง่าย และควรหลีกเหลี่ยงเพชรที่มีขอบหนา-หนามาก (thick-very thick) เพราะแสงปริมาณมากจะลอดออกทางขอบเพชร ความสวยงามของเพชรจะลดลง

  • Culet คือ เหลี่ยมที่ส่วนล่างสุดของเพชร (ก้นเพชร) ควรเลือกเพชรที่ไม่มีเหลี่ยม culet (none or pointed) หรือ small และหลีกเลี่ยงเพชรที่มี culet ใหญ่กว่า medium ขึ้นไป เพราะเวลามองเพชรจากด้านหน้าจะเห็นเหลี่ยมนี้ เหมือนมีรูกลมๆ ตรงกลางเพชร

โดยส่วนที่ 12-14 นั้นจะแสดงอยู่ในรูปสัดส่วนเพชรอยู่แล้ว และส่วนนี้ ส่วนมากบริษัทที่จำหน่ายเพชรจะเก็บไว้เป็นประวัติการซื้อขาย แต่หากใบเซอร์ใหญ่นั้นจะมีข้อมูลตรงนี้อยู่ด้านในเรียบร้อยแล้ว

Featured Posts

Recent Posts

Search By Tags

Archive

No tags yet.

Follow Us

  • Facebook Basic Square
  • Twitter Basic Square
  • Google+ Basic Square
bottom of page